All Blogs

NiSi Filter S5 on field

posted on | 0 comments
Original Photo
สำหรับข้อมูลชุดนี้จะเป็นการรีวิวอุปกรณ์ฟิลเตอร์ลดแสงครับ แต่ผมอยากให้รีวิวนี้ เป็นข้อมูลอีกชุดนึงที่สามารถเก็บไว้อ้างอิงในเรื่องอื่นๆ ด้วยเช่น เรื่องการใช้งาน การเลือกใช้ หรือแม้กระทั่งข้อมูลที่จะช่วยในการตัดสินใจว่าเราควรจะมีอุปกรณ์พวกนี้ไว้ในกระเป๋าหรือไม่ เลยพยายามเขียนให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่ตัวเองมีความรู้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลชุดนี้จะมีประโยชน์ต่อช่างภาพ และทุกคนที่ชื่นชอบการถ่ายรูปครับ

ฟิลเตอร์แผ่นคืออะไร ใช้งานอย่างไร?
ฟิลเตอร์แผ่นจะเป็นอุปกรณ์เสริมที่มักจะติดไว้ที่หน้าเลนส์ เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องสีกับแสงเป็นหลัก แต่ในยุคดิจิตอล การปรับเปลี่ยนสีในกล้องหรือในโปรแกรมแต่งภาพนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายมาก จนกระทั่งฟิลเตอร์แก้สีต่างๆ แทบจะไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่ฟิลเตอร์ที่ใช้ในการแก้แสงนั้น ยังคงจำเป็นอยู่เหมือนเดิมครับ ฟิลเตอร์แผ่นต่างๆ ที่เราเห็นกันทั่วไปนั้นเลยเป็นแผ่นไว้แก้เรื่องแสงแทบจะทั้งหมด ซึ่งฟิลเตอร์แก้เรื่องแสงนั้นจริงๆ ก็มีหลายแบบครับ แต่ที่เรียกว่านิยมเป็นอย่างมากมีอยู่แค่ 3 แบบหลักๆ เท่านั้น คือ
1.    Graduated Neutral Density Filter (GND Filter)
2.    Neutral Density Filter (ND Filter)
3.    Polarizer (PL หรือ CPL)



Graduated Neutral Density Filter เรียกสั้นๆ ในหมู่ช่างภาพว่า “GND” มีลักษณะเป็นแผ่นที่ด้านบนเป็นสีดำโปร่งแสง(แสงสามารถผ่านได้) ส่วนด้านล่างจะเป็นแผ่นแก้วใสๆ ธรรมดา แสงผ่านได้เกือบ 100%  ซึ่งส่วนด้านบนที่มีลักษณะเป็นสีดำๆ นั้นจะทำหน้าที่ลดทอนแสงลง แต่จะลดทอนแสงลงเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความเข้มของแผ่นฟิลเตอร์ซึ่งจะแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับฟิลเตอร์ GND นั้นที่ใช้กันส่วนมากก็จะเป็น GND(4) 0.6 ลดแสงลง 2 Stop กับ GND(8) 0.9 ลดแสงลง 3 Stop เพราะความเข้มเหมาะกับงาน Landscape ที่เราเจอกันบ่อยๆ คือบริเวณท้องฟ้าสว่างกว่าส่วนที่เป็นพื้นดินมาก โดยเฉพาะการถ่ายย้อนแสงในช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตก เป็นต้น การใช้แผ่น GND กดแสงด้านบนไว้เพื่อลดแสงที่ท้องฟ้าลงทำให้เราสามารถบาลานซ์แสงระหว่างท้องฟ้าและพื้นดินได้ดีขึ้น หรือในทางการถ่ายภาพเรียกว่า สามารถเก็บรายละเอียดได้ทั้งสองส่วนนั่นเอง

GND แบ่งย่อยลงไปอีกนิดเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ Soft กับ Hard
แบบ Soft รอยต่อระหว่างส่วนที่เข้มกับส่วนที่ใสที่สุดจะค่อยเกลี่ยไล่เฉดลงมา
แบบ Hard รอยต่อระหว่างส่วนที่เข้มกับส่วนที่ใส จะมีช่วงเกลี่ยน้อย ทำให้มองเหมือนช่วงเข้มและช่วงใส่แบ่งกันอย่างชัดเจน
จริงๆ GND มีอีกหลายแบบครับ มี Reverse GND อีก และอีกตัวที่กำลังมาแรงคือ GND แบบ Medium จะเรียกว่าเป็นลูกครึ่งระหว่าง Soft กับ Hard ก็ได้ ฯลฯ



ส่วนฟิลเตอร์แผ่นอีกแบบที่ได้รับความนิยมสูงเช่นกันคือ Neutral Density Filter เรียกสั้นๆ ว่า “ND”... แผ่น ND ส่วนมากจะเป็นแผ่นจตุรัสเลย(ปัจจุบันเริ่มมีแบบแผ่นกลมแล้ว) เป็นแผ่นสีดำๆ ที่แสงสามารถผ่านได้ แต่แสงจะถูกลดทอนลงตามความเข้มของแผ่น ND เช่น ND(64) ลดแสงลง 6 Stop เมื่อเราใส่แผ่นนี้ติดหน้าเลนส์ จะทำให้เราเสียแสงไปถึง 6 Stop เลย บางคนอาจมีคำถามว่า เสียแสงไป 6 Stop มันมีข้อดีอย่างไร คำตอบคือ ในบางกรณีที่เราต้องการสร้าง Movement ให้กับรูปภาพ เช่นเป็นสายน้ำไหลดูนุ่มๆ หรือ เป็นเมฆไหลยาวๆ หรือต้องการเส้นไฟรถที่ลากยาวเป็นเส้น ในหลายครั้งถ้ามีแสงมากเกินไป เราจะสร้าง Effect แบบนี้ไม่ได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น เราไปถ่ายน้ำตกในช่วงกลางวัน เราอยากได้สปีดยาวซัก 2 วินาทีเพื่อลากน้ำให้ไหลเป็นเส้น แต่แม้ว่าเราจะตั้ง F/22 และลด ISO ลงมาที่ 100(หรือต่ำกว่า) แล้วเรายังได้สปีดสมมติว่าเป็น 1/10 Sec ซึ่งนั่นยังไม่ต่ำมากพอที่จะลากน้ำหรือเมฆไหลได้ เจ้าฟิลเตอร์ ND จึงเข้ามามีบทบาทในตรงนี้ครับ ผมยกตัวอย่างต่ออีกทีว่าผมใส่ ND(64) ลดแสงลง 6 Stop ผมก็มาปรับเซ็ตการตั้งค่ากล้องใหม่ครับ ซึ่งในที่นี้ผมก็ปรับสปีดชัตเตอร์ลงมาที่ 2 วินาทีแล้วปรับ F ลงมาที่ F/11 เป็นต้น(ปรับแสงตาม ประมาณ 6 Stop อาจไม่ต้อง 6 Stop พอดีเป๊ะๆ ก็ได้) เพียงเท่านี้เราก็ได้ภาพ Movement ของสายน้ำไหลแล้ว

ในกรณีที่อยากลากเมฆไหลหล่ะ อันนี้ต้องใช้แผ่น ND ที่ความเช้มสูงๆ เลยครับ เพราะเมฆเคลื่อนที่ช้าและอยู่ไกล เราอาจเลือกแผ่น 10 Stop มาก่อนเลย ตั้งค่าลองตั้งค่าสปีดชัตเตอร์เป็น 30 วินาที แล้วปรับค่า F กับ ISO ให้ได้ค่าแสงพอดี แล้วลองดูรูปหลังกล้องว่าพอใจกับ Movement ที่ได้หรือปล่าว ถ้ายังเห็นเมฆไหลไม่ชัดก็ปรับค่าสปีดชัตเตอร์ให้นานขึ้น อาจเป็น 1 หรือ 2 นาที แล้วปรับค่า F กับ ISO เพื่อบาลานซ์แสงอีกที เป็นต้น



ส่วนแผ่นสุดท้ายที่ใช้กันมากก็จะเป็นแผ่น Polarizer(PL) แต่ถ้าได้ยินเค้าเรียกกันว่า CPL นั่นหมายถึง Circular-Polarizer อันนี้เป็นแผ่นชนิดกลม แต่ใช้งานเหมือนกัน สรุปแบบสั้นๆ ว่า PL คือแผ่นสีเหลี่ยม, CPL คือแผ่นกลมก็ได้ครับ

หน้าที่ของแผ่น PL คือตัดแสงสะท้อนออก เช่นแสงสะท้อนบนกระจก ผิวน้ำหรือแม้แต่ฝ้าในอากาศ ทำให้ท้องฟ้าสีเข้มขึ้นเป็นต้น เป็นฟิลเตอร์ที่ผมใช้บ่อยที่สุดเลย เรียกว่าถ้าไปถ่ายภาพ Landscape ผมติดไว้ที่หน้าเลนส์เกือบตลอดเวลา



ทีนี้ สำหรับคนที่สนใจจะเล่นฟิลเตอร์ ตอนนี้ผมแนะนำให้เลือก NiSi ตัวที่สามารถแยกใส่แผ่นได้ทั้งสองแบบ คือทั้งแบบแผ่นสี่เหลี่ยมและแผ่นกลมในชุดเดียว... ตอนนี้ผมใช้เลนส์ Nikon 14-24 เป็นเลนส์กว้างพิเศษ ต้องใช้ฟิลเตอร์ระบบ 150mm และ NiSi เค้าดีไซน์ชุดใหม่ออกมาตั้งชื่อรุ่นว่า “S5” ผมลองใช้แล้ว ชอบมากๆ แต่ในชุด S5 จะมีมาให้แค่ 3 ชิ้นคือ Adapter, Filter Holder และแผ่น CPL เรียกว่าเป็นเซ็ตเริ่มต้น แต่ถ้าจะให้ใช้งานได้ครอบคลุมก็ต้องหาซื้อแผ่นต่างๆ เสริมเข้ามาครับ



ตอนนี้ผมมีแผ่นต่างๆ ตามรูปนี้เลยครับ ส่วนวิธีการประกอบนั้นง่ายมากๆ โดยที่ตัว Adapter จะสวมติดอยู่กับหน้าเลนส์ และเจ้าตัว Adapter เองนั้นสามารถใส่แผ่นชนิดกลมได้ 1 แผ่น… ส่วน Filter Holder นั้นจะเอามาเกาะติดไว้ที่ Adapter อีกที และ Filter Holder จะสามารถใส่แผ่นแบบสี่เหลี่ยมได้ 2 แผ่น



เมื่อเอามาประกอบเข้าที่หน้าเลนส์ก็จะเป็นแบบนี้ครับ

เจ้า Adapter จะติดอยู่ที่หน้าเลนส์เสมอเลย และสมมติว่าเราเลือกที่จะใช้แผ่นกลมเพียงแค่แผ่นเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ Filter Holder ครับ เก็บไว้ในกระเป๋าได้เลย แต่ถ้าจะใช้แผ่นสี่เหลี่ยมเมื่อไหร่ก็เอา Filter Holder มาติดไว้ที่ Adapter อีกทีแล้วค่อยใส่แผ่นฟิลเตอร์แบบเหลี่ยมลงไป

ปล. ในการใช้งานจริง แนะนำว่าให้ใส่แผ่นฟิลเตอร์แบบเหลี่ยมลงใน Filter Holder ก่อน แล้วค่อยเอาไปติดที่ Adapter จะง่ายและป้องกันอุบัติเหตุได้ดีกว่าครับ



ทีนี้ เมื่อเราทราบแล้วว่าแต่ละแผ่น มีลักษณะอย่างไร ก็เลือกหยิบมาใช้งานให้ตรงความต้องการ เช่น
1.    ถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้น หากภาพที่ได้มีลักษณะ พื้นดินมืดมาก หรือท้องฟ้าสว่างเกินไป อันนี้เราเลือกใช้ GND Soft ความเข้มซัก 0.9 (3 Stop)
2.    ภาพที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ จะอยากให้ลดแสงสะท้อนบนผิวน้ำลง เพื่อให้สามารถมองเห็นพื้นล่างของแหล่งน้ำ งานในลักษณะนี้เราก็เลือกใช้ CPL สมมติต่อไปอีกว่า ตัดแสงชอบใจแล้ว แต่ส่วนของท้องฟ้าสว่างไปนิด เราก็ซ้อน GND Soft เข้าไปอีกแผ่นเพื่อแก้ปัญหาที่ท้องฟ้าด้วย
3.    ถ่ายภาพในช่วงกลางวันที่แสงเยอะ แต่อยากได้ Movement เราเลือกที่จะใช้แผ่น ND เป็นต้น



แล้วก็มาถึงคำถาม ที่ถามกันบ่อยที่สุดเรื่องฟิลเตอร์แผ่น คือ “จำเป็นต้องซื้อไหม?”

ต้องถามตัวเองก่อนครับ ว่าอุปนิสัยเราเหมาะกับเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้หรือปล่าว... ถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบความยุ่งยาก, ถ่ายภาพขำๆ, ไม่ซีเรียสเรื่อง Quality ข้ามอุปกรณ์ตัวนี้ไปเลยครับ มันไม่ใช่ทางของคุณแน่นอน... 

แต่สมมติว่าอุปนิสัยของคุณคือ อยากพัฒนาตัวเองให้เป็นช่างภาพที่ดี, อยากได้ภาพที่มี Quality สูงขึ้น, ลดขั้นตอนการีทัชลงหรือรีทัชรูปภาพง่ายขึ้น, อยากถ่าย Video หรือ Time Lapse ให้ได้คลิปที่สมบูรณ์ขึ้น, ชอบสร้าง Effect แปลกตาด้วยการสร้าง Movement, etc แนะนำให้มีอุปกรณ์ชุดนี้ไว้ในกระเป๋ากล้องครับ...



คำถามต่อมาคือ “มีแล้วจะมีโอกาสได้ใช้บ่อยแค่ไหน?”

เอาเป็นว่าถ้าไม่ขี้เกียจประกอบเข้ากับตัวเลนส์ ได้ใช้เกือบทุกโอกาสแน่นอนครับ... CPL กับ GND นี่ ผมแทบอยากฝังติดไว้ที่หน้าเลนส์เลยทีเดียว ^ ^



ทีนี้เรามาทำความรู้จักฟิลเตอร์แผ่นเพื่อที่จะใช้งานกันดีกว่า เริ่มกันที่ CPL ก่อนเลยเพราะมีรวมอยู่ในชุดคิดของ S5 ด้วย สำหรับ CPL เป็นอุปกรณ์ที่ช่างภาพสาย Landscape ควรมีติดกระเป๋ากล้องเลยครับ ใช้งานได้ค่อนข้างหลากหลาย แต่เอาแค่เรื่องเดียวที่ทำให้ฟ้าสีเข้มขึ้นก็คุ้มที่จะพกพาแล้วครับ ฟ้าเข้มทำให้ภาพดูมีสีสันและไฟล์ภาพดูใสขึ้นด้วย จะเอามารีทัชต่อก็ง่ายขึ้น ยิ่งได้มุม Polarize ด้วย ฟ้าสีเข้มจี๊ดได้ใจเลยครับ



สำหรับ CPL ถ้ามาดูกันแค่ฟ้าเข้ม มีข้อมูลให้ดูเยอะแล้วครับ ลองมาดูอะไรที่ลึกกว่านั้นกันอีกนิดดีกว่าเนาะ...

สำหรับรูปนี้เป็นไฟล์เปรียบเทียบระหว่างใช้ CPL กับไม่ใช้(รูปด้านซ้ายไม่ใช้ CPL รูปด้านขวาใช้) เพื่อดูความแตกต่าง สิ่งนึงที่มีประโยชน์มากอีกเรื่องคือการตัดแสงนั้นจะมีผลในเรื่องของ Haze ด้วย โดยปกติถ้าเราถ่ายอะไรที่อยู่ไกลๆ ฝ้าในอากาศจะทำให้ภาพติดสี Cyan และจะมีปัญหามากในส่วนของเงามืด แม้จะพยายามปรับแก้ด้วยโปรแกรมแต่งภาพก็เป็นเรื่องที่ยากมากครับ แต่การใช้ CPL ตัดแสงจะช่วยทำให้ภาพมีมิติขึ้นเยอะพอสมควร (ลองสังเกตที่ลูกศรหมายเลข 1 เปรียบเทียบกับรูปด้านขวามือ) ในส่วนเงามืดแม้จะยังติดสี Cyan อยู่ แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าไม่ใช้ CPL มาก การนำไปปรับแก้เพิ่มด้วยโปรแกรมแต่งภาพก็ง่ายขึ้นเยอะ และอีกส่วนที่ผมชอบมากคือสีสันของรูปภาพจะสดและอิ่มขึ้นอีกเยอะเลย (ลูกศรหมายเลข 2) ซึ่งหากได้รูปต้นฉบับมาแบบนี้ มันจะง่ายต่อการแต่งภาพอย่างมาก และนี่คือความลับเล็กๆ อีกเรื่องที่จะช่วยให้ไฟล์ดูใสขึ้นด้วยครับ



การเดิน Trekking ในช่วงกลางวันแบบนี้ ถ้าเส้นทางเดินดูแล้วไม่อันตราย ไม่น่าจะลื่น ผมจะเอา CPL ติดกล้องแล้วห้อยคอไว้ตลอด เดินไปชมวิวไป หามุมไป อะไรประมาณนั้น ซึ่งบรรยากาศช่วงกลางวันแบบนี้ เข้าทาง CPL เต็มๆ เลยครับ ชอบมุมไหนก็ส่องหาคอมโพส หมุน CPL หาจุดที่เข้มสุดแล้วยิงมาแบบไม่ต้องคิดมากเลยครับ ยังไงก็ได้งานที่ดีกว่าไม่ใส่ CPL แน่นอน เอาในกรณียืนพื้นที่สุด หากทิศทางที่เราถ่ายเข้าแก๊ปมุม Polarize หรือใกล้เคียง อย่างน้อยเราก็ได้ฟ้าเข้มๆ ไฟล์ใสๆ มาแล้วหนึ่งอย่าง อาจมีผลพลอยได้ที่เราอาจไม่รู้ตัวด้วย เช่นเรื่องการลดฝ้าในอากาศ เป็นต้น



ส่วนแผ่นต่อมาที่เป็นแผ่นโปรดอีกชิ้นคือ GND Soft 0.9 เป็นแผ่นที่ได้ใช้ตลอดในช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นหรือกำลังจะตก เพราะความเปรียบต่างของแสงบนพื้นดินกับท้องฟ้าค่อนข้างสูง

ทริค... ในช่วงเวลาที่ผมไปถึงก่อนหน้างานและมีเวลาเหลือ ผมมักจะเอา Adapter สวมติดหน้าเลนส์รอไว้ก่อนเลย ส่วนแผ่น GND Soft 0.9 จะเสียบรอไว้ใน Filter Holder แล้ววางรอไว้บนกระเป๋ากล้องอีกที เมื่อถึงช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ใกล้ขึ้น จะเริ่มเห็นความเปรียบต่างของแสงชัด ก็จะหยิบ Filter Holder มาใส่กับ Adapter เลย ทำให้ไม่เสียจังหวะในการถ่ายภาพครับ



จังหวะนี้โชคดีมากๆ ที่แสงทะลุเมฆลงมาที่ยอดเขา Seceda  พอดี เป็นแสงที่สาดลงมาค่อนข้างแรงด้วย ทำให้เกิดความเปรียบต่างของแสงสูงในส่วนสว่างและส่วนเงามืด...

ส่วนที่โดนแสงนั้น ถ้าเราถ่ายมาติดอันเดอร์กว่าความเป็นจริงนิดๆ เราจะได้สีส้มๆ ของแสงแดดชัดขึ้น แน่นั่นหมายความว่าในส่วนมืด จะยิ่งมืดลงไปอีก  ซึ่งในที่นี้เข้าทางฟิลเตอร์ GND เลยครับ ผมติดเจ้า GND Soft 0.9 เพื่อบาลานซ์แสงให้ส่วนของท้องฟ้ามืดลงนิด และส่วนของภูเขาก็โดน GND ด้วยบางๆ ตรงช่วงเกลี่ยของแผ่นพอดี นอกจากกดท้องฟ้าไว้แล้ว ยังทำให้เห็นสีเหลืองทองตรงยอดเขาชัดขึ้นด้วย ลงตัวพอดีเลยครับ ได้งานที่ชอบมาอีกใบ



หรืออีกเคสหนึ่งที่ผมใช้บ่อยๆ คือ อยากจะเน้นจุดเด่นกลางภาพ ผมเลือกจะติด GND Soft 0.9 กดท้องฟ้าให้เข้มกว่าความเป็นจริงหน่อย เพื่อบีบสายตาของผู้ชมเข้าสู่จุดเด่นกลางภาพ อย่างเช่นภาพลักษณะประมาณนี้ เป็นต้น



เหตุการณ์ต่อเนื่องจากภาพก่อนหน้า คือตอนที่ถ่ายช็อตนี้เมฆกำลังเคลื่อนไปกระทบกับยอดเขา Seceda พอดี และเนื่องจากผมมี Filter ND 1000 (10 Stop) เลยเกิดไอเดียอยากลองลากเมฆไหล สร้าง Movement ให้กับรูปภาพ... จึงติด ND 1000 เข้าไปอีกแผ่น ปรับค่ากล้องใหม่เพื่อลากสปีดให้นานที่สุด ไปจบที่ค่านี้ครับ F/22, 60Sec, ISO31 หลังจากที่เห็นภาพ ดีใจเลยครับ ที่แบก ND 1000 มาด้วย ไม่เคยถ่ายเมฆไหล ในช่วงกลางวันจ้าๆ แบบนี้มาก่อน ... โดยส่วนตัวชอบงานใบนี้มาก

Concept ของการใช้ฟิลเตอร์ใบนี้คือ... ใช้ GND Soft 0.9 กดท้องฟ้า และใช้ ND1000 สร้าง Movement ของเมฆไหล



ในเบื้องต้นอยากให้เข้าใจว่าเจ้าฟิลเตอร์ต่างๆ นั้น มันไม่ได้เป็นตัวจบงานครับ ไม่ใช่ว่าใส่ฟิลเตอร์เหล่านี้แล้วเราจะได้รูปสวยงามหลังกล้องเลย แต่อยากให้มองว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้นอีกเยอะ ในหลายสถานการณ์แม้ว่าเราใช้ฟิลเตอร์แล้ว ก็ยังต้องมารีทัชต่ออีกครับ เพื่อให้ได้งานที่สมบูรณ์ที่สุด แต่ก็มีอีกหลายสถานการณ์เหมือนกันครับที่ใส่ฟิลเตอร์แล้วเรียกว่าแทบจะจบงานหลังกล้องเลย อย่างซีนนี้เป็นตัวอย่างครับ ใช้ GND Soft 0.9 แผ่นเดียว และนี่คือรูปจากไฟล์ Jpg เลยหลังกล้องเลยครับ



ลองมาดูขนาดที่ใหญ่ขึ้นอีกหน่อย จะเห็นว่าถึงแม้ในส่วน Shadow มืดไปนิด(ผมถ่ายมาในลักษณะนี้เพราะต้องการ Keep ในส่วนของ Highlight ไว้ก่อน) แต่ในภาพรวมนั้นสามารถเก็บรายละเอียดได้ทั้งท้องฟ้าและพื้นดินในภาพเดียวเลย หากหยิบเอาไฟล์ Raw มาเปิด Shadow ขึ้นซักนิด หรือเพิ่มแสงเข้าไปหน่อย ก็ควรจะปิดจ๊อบงานชิ้นนี้ได้เลยครับ



ลองเอาไฟล์ Jpg ต้นฉบับมาต่อ Panorama โดยไม่มีการ Edit อะไรทั้งสิ้น ได้งานตั้งต้นจากไฟล์ Jpg แบบนี้ ยิ้มเลยครับ
ถ้าหยิบไฟล์ Raw ขึ้นมาทำ งานนี้กินหมูแน่นอน...



ใบนี้ก็เป็นตัวอย่างอีกใบครับที่อยากให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีฟิลเตอร์ ก็ไม่สามารถจบงานหลังกล้องได้ แต่เราสามารถที่จะเก็บข้อมูลรูปภาพให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการรีทัชได้ครับ สำหรับสภาพแวดล้อมจริงนั้น แสงที่สาดทะลุเมฆออกมาค่อนข้างแรงมาก เรียกว่าต่างกับพื้นดินหลาย Stop แน่นอน จึงหยิบเอา GND Soft 0.9 มาใส่และถ่ายเก็บรายละเอียดในส่วนสว่างมาให้พอดีก่อน และหลังจากที่ลองถ่ายและเช็ค Histogram แล้วพบว่า ข้อมูลที่มืดๆ ส่วนมากตกไปอยู่ในส่วนของ Shadow นั่นหมายความว่า เราสามารถใช้ศักยภาพของไฟล์ Raw ดึงกลับมาได้ จึงตัดสินใจเก็บภาพมาในลักษณะนี้ก่อน



หลังจากนั้นก็เอาไฟล์มาปรับแต่งใน แต่เพื่อความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปด้านใดมากเกินไป ผมจึงตัดสินใจที่จะใช้ ACR ปรับแต่งเพียงอย่างเดียว ไม่มีการทำอะไรเพิ่มเติมใน Photoshop หรือ Plug in ใดๆ ทั้งสิ้น



เราก็จะได้ผลลัพธ์ประมาณนี้ครับ ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าไม่มีฟลิเตอร์ช่วย คงไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนในใบเดียวแบบนี้



ก่อนออกเดินทางไป Italy แค่ไม่กี่วัน ทางบริษัท Camera Maker ก็ส่งมอบแผ่น ND 64 + PL ในตัวมาให้ลองใช้ด้วย จริงๆ แผ่นนี้จะเหมาะมากๆ กับงานถ่ายน้ำตก เพราะได้ทั้งตัดแสงและลากสปีดยาวในใบเดียว แต่ผมไป Italy เที่ยวนี้ไม่มีโอกาสได้ถ่ายน้ำตก หรือแหล่งน้ำไหลๆ ที่ไหนเลย คิดว่าจะแห้วซะแล้ว แบกมาหนักปล่าวๆ จนกระทั่งมาเจอมุมนี้ครับ เกิดไอเดียอีกแล้ว อันดับแรก ฟ้าแบบนี้ต้องเลือก CPL แน่นอน แต่พอดีสังเกตเห็นต้นไม้ Foreground ด้านหน้าถูกลมพัดไหวๆ เลยอยากได้ Movement ตรงนี้ เพื่อให้ฉากหน้าดูเป็นอีกเลเยอร์หนึ่ง เพื่อสร้างมิติให้กับรูปภาพมากขึ้น แล้วก็นึกได้ครับว่ามีเจ้า ND 64 + PL ตัวนี้ติดมาด้วย น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะเลย แล้วก็ได้ภาพมาอย่างที่ต้องการเลยครับ



จากการทดลองลงภาพสนามจริงจังครั้งแรก หากไม่ขัดสนเรื่องเงินทองและไม่รำคาญที่จะแบกของเพิ่ม เป็นอุปกรณ์ที่อยากให้มีติดตัวไว้เลยครับ มันทำให้ผมรู้สึกสนุกในการถ่ายภาพมากขึ้นอีกเยอะเลย เพราะดูหลังกล้องแล้วรู้สึกว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยได้งานตั้งต้นแบบนี้... ตอนอยู่บนรถ ก่อนนอนหรือช่วงว่าง ยังแอบเอากล้องขึ้นมาดูรูป นึกถึงความแตกต่าง ระหว่างมีอุปกรณ์ชุดนี้กับไม่มี บางช๊อตนี่ต้องบอกว่าถ้าไม่มีฟิลเตอร์ลดแสงคงพลาดโอกาสนั้นไปอย่างน่าเสียดายจริงๆ ถ้ารู้แบบนี้คงซื้อหามาใช้ตั้งนานแล้วครับ



สรุปว่าแนะนำอย่างแรงเลยครับ สายแลนด์ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง สำหรับมือใหม่ที่อยากลอง ใครใช้เลนส์หน้าใหญ่ที่ต้องใช้ฟิลเตอร์ระบบ 150mm แนะนำว่าเริ่มที่ชุด NiSi S5... ส่วนคนที่ใช้เลนส์หน้าธรรมดาพวก 67mm, 77mm, 82mm ที่ใช้ฟิลเตอร์ระบบ 100mm ก็ลองหาชุด NiSi V5 ครับ... แล้วก็หาแผ่น GND ซักแผ่นนึง ถ้าชอบถ่ายภูเขา เมือง น้ำตก อาจเลือกเป็นแผ่นชนิด Soft 0.9 เป็นต้น ต่อมาหากอยากเล่นกับ Movement บ้าง แนะนำ ND 64 (6 Stop) หรือ ND 1000 (10 Stop) ครับ เท่านี้ก็ได้งานหลากหลายครอบคลุมแทบทุกรูปแบบของงาน Landscape แล้ว ส่วนแผ่นอื่นๆ ก็แล้วแต่ความเหมาะสมของงานที่จะถ่ายครับ ซึ่งผมคิดว่ารีวิวชุดนี้น่าจะพอเป็นไกด์ได้พอสมควร ถ้ามีคำถามเพิ่มเติมก็เขียนทิ้งไว้ล่างกระทู้ หรือสามารถส่งตรงมาที่เฟซผมเลยก็ได้ ยินดีตอบทุกคำถามครับ https://www.facebook.com/sakrapee.nopparat

สุดท้ายก็เช่นเคย ก็ให้สนุกกับการถ่ายภาพครับผม... ^ ^




Comments info